ประเพณีการลดน้ำดำหัวผู้หญ่

ความเป็นมา (ภูมิหลัง/ความเชื่อ)
           ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุเป็นประเพณีในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ของไทย คือระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี แต่ใหญ่จะกระทำกันในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ เพียงวันเดียวหรือวันเถลิงศก การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุเป็นประเพณีที่แสดงถึงความเคารพนบน้อมต่อบิดามารดา ผู้ใหญ่ หรือผู้มีพระคุณ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ของผู้น้อยและขอขมาลาโทษที่ผู้น้อยอาจเคยล่วงเกินผู้ใหญ่ อีกทั้งเป็นการขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล แก่ตนเองตลอดไป ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ถือว่าเป็นประเพณีที่ดีงามอีกประเพณีหนึ่ง ที่ประชาชนชาวไทยถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน โดยบุตรหลานของผู้สูงอายุไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะกลับมาบ้านเกิดเพื่อรวมตัวกัน ซึ่งถือเป็นวันครอบครัวเป็นวันรวมญาติ และจะพากันไปขอขมาลาโทษ รดน้ำดำหัวและขอพรจากผู้สูงอายุ โดยเฉพาะบิดามารดาก่อนที่จะไปขอขมาและรดน้ำดำหัว และขอพรจากผู้สูงอายุคนอื่น ๆ ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพ การแสดงถึงความกตัญญูกตเวทิตาคุณ หลังจากนั้นจะมีการกินเลี้ยงสังสรรค์ คุยกันสนุกสนาน ตามประสาญาติพี่น้องที่อยู่ห่างไกลกัน ทำให้เกิดความรักสามัคคีระหว่างญาติพี่น้องมากขึ้น สิ่งของที่จะนำไปทำการขอสูมาลาโทษ รดน้ำดำหัว และขอพรจากผู้สูงอายุ ประกอบด้วย น้ำอบน้ำหอม น้ำส้มปล่อย เทียน ดอกไม้ ของขวัญ เงิน หรือของขวัญเล็กๆน้อยๆไปมอบให้แก่ท่านด้วย ผู้ไปดำหัวจะกล่าวคำขอขมาลาโทษ ขอให้ท่านอโหสิกรรมให้ และอวยพรให้ท่านประสบแต่ความสุข สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง จากนั้นจะเอาขันเล็กๆตักน้ำหอม น้ำปรุงที่นำมารดลงบนฝ่ามือผู้ใหญ่ ท่านจะนำน้ำหอม น้ำส้มป่อย ขึ้นลูบศรีษะเป็นการยอมรับการขอขมาและอโหสิกรรม แล้วกล่าวให้ศีลให้พร ประเพณีดังกล่าวนี้ถือว่าควรแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาคุณ และบุตรหลานก็จะได้รู้ได้เห็นและปฏิบัติเช่นนี้ตลอดไป ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะกระทำกันในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ เพียงวันเดียวหรือวันเถลิงศกนั่นเอง แต่การรดน้ำดำหัวพระสงฆ์นั้นจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่พิธีการรดน้ำดำหัวพระสงฆ์จะมีพิธีการมากกว่า คือก่อนที่จะรดน้ำพระสงค์จะต้องรดน้ำพระพุทธรูปก่อน แล้วจึงค่อยรดน้ำดำหัวพระภิกษุสงฆ์ จากนั้น ก็รับพรจากพระภิกษุสงค์ พอเสร็จพิธีก็จะมีการเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน และการรดน้ำดำหัวพระภิกษุนั้นจะทำทุกวันตั้งแต่วันแรกของการเริ่มประเพณีสงกรานต์ จนถึงวันสุดท้ายของสงกรานต์
 
 
 
อัตลักษณ์ (ที่โดดเด่น)
          ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมายาวนาน จนถือเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนคุ้นเคยได้ปฏิบัติต่อกันมาในช่วงเทศกาลสงกรานต์คือ ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันปีใหม่ของไทยที่ลูกหลานจะต้องกลับมาบ้านเพื่อรวมญาติและถือเป็นวันครอบครัว ที่ลูกหลานได้แสดงออกถึงความกตัญญูู กตเวทิตา ต่อบิดามารดา ปู่ ย่า ตา ยาย และผู้ที่มีพระคุณ หรือผู้เฒ่าผู้แก่ที่ตนเคารพนับถือ ซึ่งการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุนี้เป็นประเพณีที่ทรงคุณค่าสมควรได้รับการสืบทอด และเพื่อเป็นการยกย่องคุณงามความดีที่ผู้เฒ่าผู้แก่ได้กระทำไว้ในอดีต และเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญู กตเวทิตาต่อท่าน องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์จึงได้จัดงานประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุทุกปี ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้สูงอายุและเด็ก เยาวชน ลูกหลานในชุมชนได้ซึมซับและปลูกฝังค่านิยมความรักระหว่างกันอีกด้วย วัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมขององค์การบริหารส่่วนตำบลโพธิ์ 1. เพื่อแสดงความกตัญญูต่อผู้สูงอายุ 2. เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนักและเห็นคุณค่าของประเพณีอันดีงาม 3. เพื่อรักษาและสืบสานประเพณีอันดีงาม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติให้คงอยู่สืบไป 4. เพื่อให้ผู้สูงอายุได้พบปะทำกิจกรรมร่วมกันและเกิดความสนุกสนาน 5. เพื่อส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุโดยการตรวจสุขภาพของผู้สูงอายุ
 
     
 
ความสำคัญและคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน นั้นๆ
          ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีคุณค่าสำหรับลูกหลานชายไทยทุกคน เพราะเป็นวัยที่ผ่านประสบการณ์ในแต่ละช่วงอย่างมากมาย จนสามารถถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านั้นให้ลูกหลานได้ปฏิบัติตาม และเป็นวัยที่สามารถสร้างความสัมพันธ์อบอุ่นให้กับลูกหลานในครอบครัวและในชุมชนได้เป็นอย่างดี ตลอดจนสร้างคุณงามความดีต่างๆ ที่ประจักษ์และเป็นแบบอย่างเพื่อให้ลูกหลานได้ถือปฏิบัติตาม ผู้สูงอายุที่อยู่ในตำบลโพธิ์ก็เป็นบุคคลที่ลูกหลานทุกคนให้ความรักและเคารพ เพราะท่านเป็นผู้หนึ่งที่สร้างแต่สิ่งที่ดีๆ ให้ลูกหลานในตำบลได้เห็นและได้ปฏิบัติสืบต่อมา จนชุมชนเกิดความเปลี่ยนแปลงจากอดีตจนถึงปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัดเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรักและเคารพต่อผู้สูงอายุในตำบลและเป็นการสืบทอดอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ทางองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ ร่วมกับภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่นได้ดำเนินการจัดงานรดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุในระดับตำบลขึ้น ตลอดจนจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุในตำบลโพธิ์เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจกับผู้สูงอายุในการดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและสามารถเป็นที่ยึดเหนี่ยวใจลูกหลานในตำบลต่อไป

 
ที่มา